ระบบการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เครื่องปฏิกรณ์เป็นแหล่งผลิตความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบไปด้วย ถังขนาดใหญ่  ภายในมีแท่ง เชื้อเพลิงยูเรเนียมแช่อยู่ในน้ำ  การควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ของเครื่องปฏิกรณ์อาศัยแท่งควบคุม ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติดูดอนุภาคนิวตรอน  ทำหน้าที่เคลื่อนขึ้นลงภายในถัง เพื่อดูดจับอนุภาคนิวตรอนส่วนเกิน


ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมียูเรเนียมชนิดที่เกิดปฏิกิริยา นิวเคลียร์ได้ (ยูเรเนียม-235)  ในปริมาณที่เจือจางเพียง 0.7 - 3 %   ซึ่งแตกต่างจากระเบิดปรมาณูที่ใช้ยูเรเนียม ชนิดความเข้มข้นสูง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงไม่สามารถเกิดระเบิดได้ เหมือนกับระเบิดปรมาณู  อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยานิวเคลียร์ภายใน เครื่องปฏิกรณ์ จะทำให้เกิด สารกัมมันภาพ รังสีสะสมอยู่ภายในแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งหากมีอุบัติเหตุที่รุนแรง  อาจทำให้สารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้รั่วออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

ระบบถ่ายเทความร้อนออกจากเครื่องปฏิกรณ์
การถ่ายเทความร้อนออกจากเครื่องปฏิกรณ์  จะทำงานในลักษณะวงจรปิด  โดยน้ำที่ควบคุมให้มีความดันสูงเพื่อป้องกันการเดือดเป็นไอน้ำ  รับความร้อน  จากแท่งเชื้อเพลิงจะถูกส่งไปยังเครื่องผลิตไอน้ำ  ซึ่งจะมีน้ำเย็นจากอีกระบบหนึ่งซึ่งควบคุมความดันต่ำ  ไหลเข้ามารับความร้อน   และเกิดการเดือดกลายเป็นไอน้ำ  ไอน้ำที่ได้ออกมานี้  จะไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า และทำให้กลั่นตัวกลับเป็นน้ำเพื่อส่งไปผลิตไอน้ำอีกครั้ง  ส่วนน้ำจากเครื่องปฏิกรณ์เมื่อถ่ายเทความร้อน ในเครื่องผลิตไอน้ำแล้ว  จะส่งกลับเข้าไปรับความร้อนจากแท่งเชื้อเพลิงอีกเช่นกัน การผลิตไอน้ำ   จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  สามารถปล่อยให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ  ได้โดยตรงภายในเครื่องปฏิกรณ์  และส่งไปยังกังหันผลิตไฟฟ้า  โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบถ่ายเทความร้อนถึงสองระบบ แต่โรงไฟฟ้าชนิดนี้จะต้องมีการออกแบบป้องกันอันตรายจากการปนเปื้อน  ของสารกัมมันภาพรังสีในส่วนระบบกังหันไอน้ำเพิ่มเติม

ระบบระบายความร้อน

การกลั่นตัวของไอน้ำหลังจากผ่านกังหันผลิตไฟฟ้าเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่นั้น  ด้องอาศัยการทำงานของเครื่องควบแน่น  ซึ่งจะนำน้ำจากภายนอกโรงไฟฟ้ามาหล่อเย็น และระบายความร้อนออกไป ระบบระบายความร้อนดังกล่าว  ได้แก่  การนำน้ำจากทะเล หรือแม่น้ำเข้ามาระบายความร้อน  จากเครื่องควบแน่น  แล้วปล่อยน้ำทิ้งไป  ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้ปริมาณน้ำจำนวนมาก  เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำที่ปล่อยกลับคืนสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ตามเกณฑ์ที่กำหนด (5-15 องศาเซลเซียส) เป็นการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ นอกจากนี้สามารถระบายความร้อนได้โดยใช้หอระบายความร้อน  ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตลักษณะเป็นปล่องขนาดใหญ่  สูงประมาณ  165  เมตร  เส้นผ่าศูนย์กลางของฐานประมาณ  155  เมตร  การระบายความร้อนจะทำงานในระบบวงจรปิด  โดยจะพ่นน้ำร้อนที่ผ่านเครื่องควบแน่นให้เป็นฝอย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้กับอากาศ แล้วตกกลับมารวมอยู่ในที่ฐานของหอระบายความร้อน  หลังจากนั้นจึงส่งไปยังเครื่องควบแน่นอีกครั้งหนึ่ง  แต่การระบายความร้อนในระบบนี้  ยังจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเพื่อใช้เติมน้ำที่หายไป เนื่องจากการระเหย หรือลอยไปกับอากาศ  และจะมีประสิทธิภาพดีในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาว