อนุรักษ์กระดาษพันปี

คงเป็นที่ทราบกันดีว่า คนจีนได้ประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้เป็นชาติแรกในโลก เมื่อประมาณ 2 พันกว่าปีมาแล้ว แต่เทคโนโลยีการทำกระดาษของจีนมิได้แพร่หลายกระจายสู่ชาติต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะสภาพโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์ และสังคมของจีนโบราณ

ส่วนชาวเกาหลีนั้นได้รู้จักกระดาษเป็นครั้งแรกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นชาติต่อไปที่รู้จักกระดาษในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 และชาวอินเดียเริ่มทำกระดาษเป็นราวคริสต์ศตวรรษที่ 7

ส่วนชาวยุโรป นั้นเพิ่งเห็นกระดาษเป็นครั้งแรกเมื่อนักสำรวจชื่อ Marco Polo ได้ไปเยือนเมืองจีน ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเขาได้เห็นคนจีนใช้เงินที่ทำด้วยกระดาษอย่างแพร่หลาย และได้เห็นประเพณีเผากระดาษในงานศพอีกด้วย ต่อมาเมื่ออาณาจักรมองโกลแผ่ขยาย อารยธรรมการทำกระดาษของจีนจึงได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

ในปี พ.ศ. 2450 Sir Auriel Stein นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้พบหนังสือจีนที่พิมพ์ด้วยหมึกดำในถ้ำแห่งหนึ่งใกล้เมือง Dunhuang ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หนังสือนั้นทำด้วยกระดาษยาว 5 เมตร มีบันทึกข้อความเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวันเวลาที่ได้รับการพิมพ์ว่าได้ถูกพิมพ์ขึ้นเมื่อ 1132 ปีก่อนโน้น

สิ่งตีพิมพ์จึงได้รับนามว่า Dunhuang Diamond Sutra นับว่าเป็นเอกสารพิมพ์ที่โบราณที่สุดในโลก ปัจจุบันกระดาษที่ประมาณค่ามิได้ชิ้นนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอังกฤษ และขณะนี้กระดาษ Dunhuang กำลังเปื่อยสลาย

ในอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์รักษาสมบัติทางอารยธรรมของโลกชิ้นนี้ ได้ใช้กาวชนิดหนึ่งทาบกระดาษแล้วแปะติดกับกระดาษรองพื้นอีกทีหนึ่ง กรรมวิธีลักษณะนี้ทำให้กระดาษเครียด มันจึงมีรอยแตก และรอยแตกได้ขยายขนาดขึ้นทุกวัน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์พิพิธภัณฑสถานจึงได้ลงความเห็นว่า สมควรที่จะแยกกระดาษตัวจริงออกจากกระดาษรอง แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า ทางพิพิธภัณฑ์ไม่รู้ว่า ในอดีต คนเก็บรักษากระดาษนี้ใช้กาวชนิดใดทา และน้ำยาที่ใช้ในการพิมพ์กระดาษนั้น เป็นน้ำยาชนิดใด

ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้ติดต่อกับ K. Seddon และ F. Jones แห่งมหาวิทยาลัย Sussex ในประเทศอังกฤษให้ช่วย ก่อนที่กระดาษจะเหลือแต่ขุย นักเคมีทั้งสองได้ทดลองใช้สารละลายหลายชนิดละลายกาวที่ใช้ในการปะ และขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายกระดาษด้วย ในที่สุดเขาพบว่า สารที่ใช้ละลายกาวได้ดีที่สุดคือ น้ำ แต่หากจะเอาน้ำราด หมึกเหมิก ตัวอักษรต่างๆ ที่พิมพ์ไปบนนั้น ก็จะละลายไหลตามออกมาด้วย

ทางออกใหม่ที่ Seddon และ Jones พบคือ ใช้สารละลายของ sodium nitrate สารละลายนี้เวลาสัมผัสหมึกของกระดาษจะเปลี่ยนหมึกเป็นสารอื่น แต่สีและความเข้มต่างๆ จะยังคงสภาพเดิมทุกประการ sodium nitrate ละลายกาวได้ดีอีกด้วย

ปัญหาขั้นต่อไปคือ ทางพิพิธภัณฑ์ยังคิดไม่ออกเลยว่า จะมีวิธีเก็บรักษาตัวกระดาษที่มีหมึกพิมพ์อยู่ด้วยนี้ให้คงทนค้ำฟ้าและถาวรได้อย่างไร
โดย ดร.สุทัศน์ ยกส้าน สสวท.