กินคาร์โบไฮเดรตแล้วทำให้อ้วนจริงหรือ ?

คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงานแก่ร่างกาย 4 กิโลแคลอรี อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง เผือก มัน น้ำตาล หรือผลิตภัณฑ์ของอาหารดังกล่าว เช่น ขนมปัง ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่

ความคิดที่ว่าการเพิ่มขึ้นของอินซูลิน ( ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ) จะทำให้คาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไป เปลี่ยนเป็นไขมันนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพราะ

ประการที่หนึ่ง จะต้องใช้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปจำนวนมหาศาล ที่จะทำให้เกิดการสังเคราะห์ไขมันได้ และแม้ว่าจะเป็นไปได้ แต่ปริมาณไขมันที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรตก็จะน้อยมาก

ประการที่สอง ความคิดที่ว่าคนที่การดื้อต่ออินซูลินจะมีแนวโน้มเป็นคนอ้วน เมื่อกินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตสูงนั้น ไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ความจริงอาหารที่ไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง เป็นอาหารที่มักจะแนะนำให้กินเพื่อป้องกันมิให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น สำหรับคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน และเป็นโรคหัวใจ

ประการสุดท้าย มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เสนอแนะว่า พลังงานที่ร่างกายได้รับจะมากเมื่อกินอาหารที่มีไขมันมาก และคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยทั่วไปการกินอาหารที่ให้พลังงานมากเกินไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จะทำให้ร่างกายสะสมไขมันได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์น้อยมากที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เมื่อกินในปริมาณที่ไม่เกินพลังงานรวมที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน
โดย โครงการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อมวลชน สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ เดลินิวส์ 16 ก.ค. 2542 หน้า 10