ฟีโรโมนช่วยเกษตรกร

คอเหล้าองุ่น (ไวน์) นักชิมลูกเกด และผู้นิยมบริโภคองุ่นสด น้ำองุ่นและผลิตภัณฑ์จากองุ่นทั้งหลายที่เคยระแวงกับพิษภัยจากสารเคมีปราบแมลงศัตรูตัวร้ายขององุ่น ขอได้โปรดวางใจ เพราะขณะนี้พิษภัยสารตกค้างบนผลองุ่นจะมีทางหดหายไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์อันเลื่องชื่อของอเมริกาได้พัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ในการ ควบคุมและจัดการกับเจ้าผีเสื้อหนอนกัดกินผลองุ่น (grape berry moth) ที่ชาวสวนองุ่นรู้จักกันดี โดยไม่ใช้สารเคมีแต่อย่างใด

วิธีการใหม่นี้ได้รับการทดสอบเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว วิธีใหม่นี้ปราศจากสารตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ชนิดอื่น รวมทั้งคนบริโภคและชาวสวนองุ่นด้วย เพราะจะใช้สารดึงดูดทางธรรมชาติหรือ ฟีโรโมน ในการล่อผีเสื้อตัวผู้ให้ติดกับก่อนการทำลายแบบนิ่ม ๆ โดยทั่วไปฟีโรโมนนั้นจะถูกปล่อยจากผีเสื้อเพศเมียเพื่อโปรยเสน่ห์ล่อให้ตัวผู้มาผสมพันธุ์ ฟีโรโมนสังเคราะห์จากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์จะถูกนำไปใส่ไว้ในกล่องกับดัก แล้วนำไปไว้ตามจุดต่าง ๆ ให้ทั่วสวนองุ่น เพื่อเบี่ยงเบนผีเสื้อตัวผู้ให้สับสนและมาติดกับ แล้วจึงนำไปกำจัดด้วยการอบด้วยสารเคมีหรืออะไรก็แล้วแต่ถนัด ภายหลัง ส่วนผีเสื้อตัวเมียก็จะไม่ได้รับการผสมแล้วไม่สามารถวางไข่และทำให้เกิดหนอนกัดกินผลองุ่นได้ ดังนั้นชาวสวน จึงไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงที่ผลองุ่นอันน่า รับประทานเพื่อกำจัดหนอนของผีเสื้อที่กัดกินผลองุ่น

นับเป็นวิธีการคุมกำเนิดกึ่งธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฟีโรโมน สังเคราะห์นั้นมีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับน้ำมันมะกอกจึงไม่มีพิษต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่า หากวิธีการนี้แพร่หลายในหมู่เกษตรกรในอเมริกาเพียงครึ่งหนึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดแมลงในอเมริกาลดลงถึงปีละ 50 ตันเลยทีเดียว
จาก คอลัมน์มองโลก โดย เจน วราหะ รู้รอบตัว 7(78) : 16 ก.ค. 2535