หนังสือชื่อ Principia
Isaac Newton เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2185 ที่เมือง Woolsthorpe ในประเทศ อังกฤษ บิดาเป็นชาวนาที่ได้เสียชีวิตไป ตั้งแต่นิวตันยังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อเติบใหญ่นิวตันได้รับการ สนับสนุนจากลุงให้ไปศึกษาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ณ ที่นั่นเขาได้เรียนวิชาเรขา คณิตของ Euclid และ ฟิสิกส์ของGalileo
ในปี พ.ศ. 2208 ได้เกิดเหตุการณ์กาฬโรคระบาดในประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัย ต่างๆ ต้องปิดการเรียนการสอน นิวตันจึงต้องกลับไปพำนักที่ Woolsthorpe กับมารดา ช่วงเวลา 18 เดือน ที่นั่นเป็นระยะเวลาที่สำคัญมากที่สุดระยะหนึ่งของมนุษยชาติ เพราะในช่วงเวลานั้นนิวตันได้พบ สาเหตุที่ทำให้สรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาลเคลื่อนที่ได้ เขาได้แถลงกฎการเคลื่อนที่ ได้แสดงวิธีพิสูจน์ รวมทั้งอธิบายเหตุผลและความเข้าใจต่างๆ ของเขาลงในหนังสือชื่อ Philosophie Naturalis Principia Mathematica หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันในนามสั้นๆ ว่า Principia
Principia ถูกพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2230 มีจำนวนพิมพ์ 500 เล่ม คนที่ได้อ่าน Principia ในสมัยนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจ แม้กระทั่ง Voltaire ก็ยังกล่าวถึง Principia ว่าอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
แต่ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ยอมรับว่า Principia คือสิ่งมหัศจรรย์ทางปัญญา ที่สำคัญที่สุดที่สมองมนุษย์เคยคิดมาได้และกำลังจะคิดต่อไป
ใน Principia นิวตันได้อธิบายพฤติกรรมของดาวในสุริยจักรวาลว่ามัน เคลื่อนที่ได้ เพราะถูกแรงกระทำสองแรงคือ แรงเฉื่อยที่จะผลักมันออกไปในแนวเส้นสัมผัสกับวงโคจร และ แรงดึงดูดที่จะชักจูงให้มันโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ นิวตันได้แสดงให้ทุกคนประจักษ์ว่า เหตุการณ์ ต่างๆ ที่เกิดบนโลกเช่นกรณีลูกแอปเปิลตกจากกิ่ง กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดบนสวรรค์ เช่นกรณี ดวงจันทร์โคจรรอบโลก สามารถอธิบายได้ด้วยกฎๆ เดียวกัน เขายังแสดงให้เห็นอีกว่าดวงจันทร์ทำให้ เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง และดาวหางเป็นเพียงดาวดวงหนึ่ง ของสุริยจักรวาลที่เราสามารถทำนาย วิถีโคจรของมันในอนาคตได้ หากเรารู้ตำแหน่งและความเร็วของมันในปัจจุบัน
ในการพิสูจน์หรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ นิวตันได้คิดสร้างวิชา Calculus ขึ้น แล้วใช้คณิตศาสตร์ทำนายผลที่จะเกิดจากสมมติฐาน เขาได้กล่าวเน้นว่าการทดลอง หรือ การสังเกตวัดเท่านั้น ที่จะเป็นเกณฑ์ตัดสินความถูกต้องของสมมติฐานต่าง
Principia ยังมีเรื่องของ gyroscope ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีใครในสมัยนั้นรู้จัก จนกระทั่งอีก 200 ปีต่อมา และในนั้นนิวตันได้กล่าวถึงการทดลองแยกแสงอาทิตย์ออกด้วยปริซึมเป็น สีรุ้งอีกด้วย และเขายังได้อธิบายสาเหตุการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทร รวมทั้งให้เหตุผลด้วยว่า เหตุใดโลกจึงไม่กลม
เพราะเหตุว่านิวตันได้เขียน Principia เป็นภาษาละติน และใช้สำนวน ที่รวบรัด เพราะแกเป็นที่คนที่ไม่ชอบอธิบายอะไรๆ ยืดยาด ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าโอกาสที่คนเดินดินผู้มี “ปัญญา” ทั้งหลายจะเข้าใจจินตนาการของ Newton จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก
S. Chandrasekhar นักฟิสิกส์ผู้พิชิตรางวัล Nobel ประจำปี พ.ศ. 2526 ได้พยายามเรียบเรียง แนวความคิด และภาษาฟิสิกส์ของนิวตันให้มีรูปแบบ และลักษณะปัจจุบันเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ในหนังสือชื่อ Newton for the Common Reader ราคา130 เหรียญสหรัฐฯ ที่ออกวางตลาด เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541Chandrasekhar ได้สอดใส่ความเข้าใจของเขาที่มีต่อความนึกคิดของนิวตัน ให้ผู้อ่านรู้สึกเสมือนว่ากำลังดู Sistine Chapel โดยไกด์ชื่อ Michelangelo หรือกำลังฟังซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven โดยผู้อำนวยการเพลงชื่อ Arturo Toscanini ยังไงยังงั้น ใน Principia ทั้งเล่ม นิวตัน ได้เน้นหลักการว่า Na - ture does nothing in vain and more is in vain when less will serve: for Nature is pleased with simplicity.
คนที่เก่งวิทยาศาสตร์ และยังสามารถใช้ภาษาที่คมและลึกได้ เช่นนี้ อัจฉริยะสุดๆ เลยครับ

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)