เส้นชั้นความดัน (Isobaric Lines)

แผนที่อากาศเป็นแผนที่ที่แสดงสภาพอากาศบริเวณพื้นผิวโลกขณะใดๆ ประกอบด้วย เส้นเขตแดนประเทศ เส้นรอยต่อระหว่างแผ่นดินและผืนน้ำ เส้นชั้นความดันหรือเส้นระดับความดันอากาศเท่ากันและสัญลักษณ์แสดงสภาวะอากาศขณะนั้น (ภาพ 1.)

ภาพ1. แผนที่แสดงระดับความดันอากาศเท่าบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในวันที่ 16 สิงหาคม 2534 เวลา 7.00 นาฬิกา


เส้นระดับความดันอากาศเท่ากัน หมายถึง เส้นโค้งที่ทุกๆ จุดที่อยู่บนเส้นนั้นมีความดันอากาศเท่ากัน เส้นโค้งที่วนรอบและเรียงความดันอากาศต่ำออกไปยังความดันอากาศสูง เรียกว่า บริเวณความดันอากาศต่ำ หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Zone) เส้นโค้งที่วนรอบและเรียงจากความดันอากาศสูงไปยังความดันอากาศต่ำ เรียกบริเวณความดันอากาศสูง (High Pressure Zone) เส้นระดับความดันอากาศเท่ากันที่เรียงชิดกันมากจะมีเกรเดียนท์ของความดันอากาศสูงมาก มีความหมายว่า จะมีกระแสลมแรงจากบริเวณที่มีความดันอากาศสูงกว่าผ่านไปยังบริเวณที่มีความดันอากาศต่ำกว่า แต่เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองจึงเกิดแรงบิดจากการหมุนของโลก เรียกว่า แรงโคริออลิส (Coriolis Force) กระทำให้ทิศทางของลมเบนทวนเข็มนาฬิกาเข้าหาบริเวณความดันอากาศต่ำในซีกโลกเหนือและทิศทางลมเบนตามเข็มนาฬิกาเข้าหาบริเวณความดันอากาศต่ำในซีกโลกใต้ ในทำนองเดียวกันทิศทางลมจะเบนตามเข็มนาฬิกาออกจากบริเวณความดันอากาศสูงในซีกโลกเหนือ และทิศทางลมจะเบนทวนเข็มนาฬิกาออกจากบริเวณความดันอากาศสูงในซีกโลกใต้

บริเวณที่มีเส้นระดับความดันอากาศต่ำเรียงวนเวียนกันเป็นกลุ่มๆ ใกล้ๆ กันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นบริเวณความดันอากาศต่ำเข้ามาเรียงเป็นแถวใกล้ๆ กัน เรียกว่า แนวร่องความดันอากาศต่ำ พื้นที่บริเวณแนวร่องความดันอากาศต่ำจะมีฝนตกมาก บางครั้งถึงขั้นเกิดอุทกภัย

บริเวณที่มีเส้นระดับความดันอากาศสูงเรียงวนเวียนกันเป็นกลุ่ม บริเวณนั้นจะเป็นบริเวณความดันอากาศสูงที่มีอากาศเย็นแผ่กระจายออกไปยังบริเวณที่มีความดันอากาศต่ำ

เส้นระดับความดันอากาศเท่ากันแต่ละเส้นจะกำกับด้วยความดันอากาศมีหน่วยเป็น มิลลิบาร์ (1 ใน 1,000 ของความดันบรรยากาศ) ความดันอากาศปกติมีค่าประมาณ 1,000 มิลลิบาร์

สัญลักษณ์ L แสดงบริเวณความดันอากาศต่ำ
H แสดงบริเวณความดันอากาศสูง
D แสดงพายุดีเปรสชันมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 32-64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
TS แสดงพายุโซนร้อนมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 65-119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
TY แสดงพายุไต้ฝุ่นมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง มากกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บริเวณที่เกิดพายุหมุนเขตร้อนจะเป็นบริเวณที่มีเกรเดียนท์ของความดันอากาศ ติดลบอย่างมาก แสดงว่ามีลมพัดจากบริเวณโดยรอบพาไอน้ำเข้ามาหมุนวนเติมเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้การหมุนวนของลมที่พัดเข้าสู่ศูนย์กลางนี้รุนแรงมากขึ้น พายุหมุนเขตร้อนจะรุนแรงมากเมื่อศูนย์กลางของพายุอยู่ในทะเลซึ่งไม่แรงเสียดทานกระทำต่อต้านแรงลม


ที่มา: เอกสารประกอบการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2542, วิชาบูรณาการ
หมวดการศึกษาทั่วไป รหัสวิชา 999211 คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน