ไอทีกับแนวโน้มโลก

 จอห์น  ไนซ์บิตต์  ผู้พยากรณ์สังคมได้เขียนหนังสือเรื่อง Megatrends 2000  โดยกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางสังคมโลก  เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีลักษณะการกระจายแบบทุกทิศทาง และมีระบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว และยังสื่อสารแบบสองทิศทาง  ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง และสังคมจึงแตกต่างจากในอดีตมาก  ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ  อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง  ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน  แนวโน้มที่สำคัญที่เกิดจากเทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นที่กล่าวถึงกันมาก  มีหลายประการ
เทคโนโลยีสารสนเทศ  ทำให้สังคมเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ  สภาพของสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วสองครั้ง  จากสังคมความเป็นอยู่แบบเร่ร่อนมาเป็นสังคมเกษตรที่รู้จักกับการเพาะปลูกและสร้างผลิตผลทางการเกษตรทำให้มีการสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง  ต่อมามีความจำเป็นต้องผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมากและต้นทุนถูก  จึงต้องหันมาผลิตแบบอุตสาหกรรม  ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมเมือง  มีการรวมกลุ่มอยู่อาศัยเป็นเมือง  มีอุตสาหกรรมเป็นฐานการผลิต  สังคมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน  และกำลังจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ  ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารมีบทบาทมากขึ้น  มีการใช้เครือข่าย  เช่นอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ  การดำเนินธุรกิจใช้สารสนเทศอย่างกว้างขวาง  เกิดคำใหม่ว่า  ไซเบอร์สเปซ  มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  ในไซเบอร์สเปซ  เช่น  การพูดคุย  การซื้อสินค้าและบริการ  การทำงานผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดสภาพที่เสมือนจริงมากมาย  เช่นห้องสมุดเสมือนจริง  ห้องเรียนเสมือนจริง  ที่ทำงานเสมือนจริง  ฯลฯ
เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัสและตอบสนองตามความต้องการ  การใช้เทคโนโลยีปัจจุบันเป็นแบบบังคับ  เช่น  การดูโทรทัศน์  วิทยุ  เมื่อเราเปิดเครื่องรับโทรทัศน์  เราไม่สามารถเลือกตามความต้องการได้  ถ้าสถานีส่งสัญญาณใดมา  เราก็จะต้องชม  ดังนั้นเมื่อเปิดวิทยุจะมีเสียงดังขึ้นทันที  หากไม่พอใจก็ทำได้เพียงเลือกสถานีใหม่  แนวโน้มจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เรียกว่า on demand   เราจะมี TV on demand มีวิทยุแบบตามความต้องการ  เช่น  เมื่อต้องการชมภาพยนตร์เรื่องใดก็เลือกชม และดูได้ตั้งแต่ต้นรายการ  หากจะศึกษาหรือเรียนรู้ก็มี education on demand คือสามารถเลือกเรียนตามต้องการได้  การตอบสนองตามความต้องการ  เป็นหนทางที่เป็นไปได้  เพราะเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าจนสามารถนำระบบสื่อสารมาตอบสนองตามความต้องการของมนุษย์ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา   เมื่อการสื่อสารแบบสองทางก้าวหน้าและแพร่หลายขึ้น  การโต้ตอบผ่านเครือข่ายทำให้เสมือนมีปฏิสัมพันธ์ได้จริง  เรามีระบบ  วีดีโอคอนเฟอเรนซ์  ระบบประชุมบนเครือข่าย  มีระบบ Tele-education มีระบบการค้าบนเครือข่าย  ลักษณะของการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ทำให้ขยายขอบเขตการทำงาน หรือดำเนินกิจกรรมไปทุกหนทุกแห่ง  และดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง  เราจะเห็นจากตัวอย่างที่มีมานานแล้ว  เช่น  ระบบเอทีเอ็ม  ทำให้การเบิกจ่ายได้เกือบตลอดเวลา และกระจายไปใกล้ตัวผู้รับบริการมากขึ้น  แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  การบริการจะกระจายมากยิ่งขึ้นจนถึงที่บ้าน  ในอนาคตสังคมการทำงานจะกระจายจนงานบางงานอาจนั่งทำที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ และเวลาใดก็ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก  ความเกี่ยวโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์  ระบบเศรษฐกิจซึ่งแต่เดิมมีขอบเขตจำกัดภายในประเทศ  ก็กระจายเป็นเศรษฐกิจโลก  ทั่วโลกจะมีกระแสการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสินค้าบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว  เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น  ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศ และเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน  หน่วยงานภายในเป็นแบบเครือข่ายมากขึ้น  แต่เดิมการจัดองค์กรมีการวางเป็นลำดับขั้น  มีสายการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง  แต่เมื่อการสื่อสารแบบสองทางและการกระจายข่าวสารดีขึ้น  มีการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรผูกพันกันเป็นกลุ่มงาน  มีการเพิ่มคุณค่าขององค์กรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ  การจัดโครงสร้างขององค์กรจึงปรับเปลี่ยนจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะสร้างองค์กรเป็นเครือข่ายที่มีลักษณะการบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น  หน่วยธุรกิจจะมีขนาดเล็กลง และเชื่อมโยงกันกับหน่วยธุรกิจอื่นเป็นเครือข่าย  สถานะภาพขององค์กรจึงต้องแปรเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี  เพราะการดำเนินธุรกิจต้องใช้ระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็วเท่ากับแสง  ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว
เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น  อีกทั้งยังทำให้วิถีการตัดสินใจ หรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น  แต่เดิมการตัดสินปัญหาอาจมีหนทางให้เลือกได้น้อย  เช่น  มีคำตอบเดียว  ใช่ และ ไม่ใช่  แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการตัดสินใจ  ทำให้วิถีความคิดในการตัดสินปัญหาเปลี่ยนไป  ผู้ตัดสินใจมีทางเลือกได้มากขึ้น  มีความละเอียดอ่อนในการตัดสินปัญหาได้ดีขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นเทคโนโลยีเดียวที่มีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ  ดังนั้นจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เศรษฐกิจ และการเมืองได้อย่างมาก  ลองนึกดูว่าขณะนี้เราสามารถชมข่าว  ชมรายการทีวี  ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก  เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีเราใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารระหว่างกัน และติดต่อกับคนได้ทั่วโลก  จึงเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นสังคมโลกมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มโลกจึงขึ้นกับเทคโนโลยีสารสนเทศ


เขียนโดย : รศ. ยืน ภู่วรวรรณ